สถิติ
เปิดเมื่อ10/02/2015
อัพเดท10/03/2015
ผู้เข้าชม45542
แสดงหน้า53896
ปฎิทิน
May 2024
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
   
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 




บทความ

เข้าสู่บทเรียนนิเทศศาสตร์กับการท่องเที่ยว และวางแผนร่วมกับผู้เรียน
บทที่ 1
นิเทศศาสตร์กับการท่องเที่ยว

1.1 การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
1.1.1 ความหมายและความสำคัญของการท่องเที่ยว
         องค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization หรือ WTO) ให้ความหมายของ “การท่องเที่ยว” ว่าหมายถึง การเดินทางใดๆ ก็ตามเป็นการเดินทางตามเงื่อนไขสากล 3 ประการ คือ
  • ประการที่ 1) การเดินทางจากที่อยู่อาศัยปกติไปยังที่อื่นเป็นการชั่วคราว แต่ไม่ใช่ไปตั้งหลักแหล่งเป็นการถาวร
  • ประการที่ 2) การเดินทางนั้นเป็นไปด้วยความสมัครใจ หรือความพึงพอใจของผู้เดินทางเอง ไม่ใช่เป็นการถูกบังคับ ไม่ใช่เพื่อทำสงคราม และ
  • ประการที่ 3) เป็นการเดินทางด้วยวัตถุประสงค์ใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่ประกอบอาชีพหรือหารายได้ (ศรัญยา วรากุลวิทย์, 2546 : 2)
 จากความหมายของการท่องเที่ยวดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่า การท่องเที่ยว หมายถึง การเดินทางไปยังอีกสถานที่หนึ่งของบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะด้วยความสมัครใจเป็นการชั่วคราว การท่องเที่ยวเกิดจากกระบวนการจัดการต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบทำให้การท่องเที่ยวประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของบุคคลและคณะบุคคล
1.1.2 ระบบการท่องเที่ยวและองค์ประกอบของการท่องเที่ยว
          การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่มีการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งทำให้ต้องอาศัยกระบวนการต่างๆ ที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อให้การเดินทางเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นการท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องของระบบทางการท่องเที่ยว และมีองค์ประกอบต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว Jennings G. (1955 : 4) ได้กล่าวถึงการท่องเที่ยวว่าเป็นสหวิทยาการเนื่องด้วยการท่องเที่ยวจะเกี่ยวข้องกับศาสตร์หลากหลายแขนงเช่น เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ สังคมวิทยา การตลาด ประวัติศาสตร์ เป็นต้น และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (2540 : 7 -10) ได้อธิบายถึงองค์ประกอบของการท่องเที่ยวว่าการท่องเที่ยวเป็นกระบวนการทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีองค์ประกอบหลัก 3 ด้านคือ ทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว (tourism resource) บริการการท่องเที่ยว (tourism service) และตลาดการท่องเที่ยว (tourism market or tourist) แต่ละองค์ประกอบย่อยมีองค์ประกอบย่อยๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน เป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน ความแตกต่างของแต่ละรูปแบบการท่องเที่ยวจึงอยู่ที่ความแตกต่างในองค์ประกอบย่อย และความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ดังแสดงในภาพต่อไปนี้
  1. แหล่งท่องเที่ยว เป็นทรัพยากรที่สำคัญ ในประเทศไทยโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้แบ่งแหล่งท่องเที่ยวออกเป็น 3 ประเภทคือ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์โบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรม
  2. บริการการท่องเที่ยว เป็นบริการที่รองรับให้เกิดความสะดวกสบายและความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยว เช่น ที่พัก อาหาร แหล่งจำหน่ายสินค้า แหล่งบันเทิง แหล่งกิจกรรมและบริการอื่นๆ ทั้งนี้รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นอื่นๆ ด้วย
  3. ตลาดการท่องเที่ยว เป็นความปรารถนาในการท่องเที่ยวจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพื่อเข้าร่วมในกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งในกระบวนการจัดการได้หมายรวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาการขาย และการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วย
          การท่องเที่ยวจึงเป็นกิจกรรมที่ขึ้นกับคุณภาพของมนุษย์ ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมซึ่งไม่สามารถแยกตัวออกจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอื่นๆกระบวนการท่องเที่ยวได้พัฒ นาจนเกิดเป็นสาขาที่สำคัญสาขาหนึ่งในระบบเศรษฐกิจที่มีผู้ซื้อและผู้ขายจนขยายตัวเป็น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Industry) ที่ก่อให้เกิดรายได้ที่สำคัญของประเทศ
 
1.1.3 คุณลักษณะสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
           ได้อธิบายลักษณะของสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความแตกต่างไปจากสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ด้วยคุณลักษณะพิเศษ 4 ประการคือ เป็นสินค้าที่จับต้องไม่ได้ (Intangibility) สินค้ามีความหลากหลาย (Variability) สินค้าไม่สามารถแยกส่วนได้ (Inseparability) และเป็นสินค้าสูญเปล่า (Perishability) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
  1. สินค้าที่จับต้องไม่ได้ (Intangibility) หมายถึงสินค้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่สามารถมองเห็นได้ สัมผัสไม่ได้ ไม่สามารถรับรู้รสชาติ ความรู้สึก สัมผัสหรือได้ยิน ก่อนการตัดสินใจซื้อและบริโภค ผู้บริโภคสินค้า (นักท่องเที่ยว) ตัดสินใจซื้อสินค้าการท่องเที่ยวจากข้อมูลที่ได้รับจากผู้ขายสินค้า (บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว) เช่น ราคา รูปภาพ ข้อมูลการให้บริการ จากคนที่รู้จัก จนเกิดความมั่นใจเลือกซื้อสินค้า ดังนั้นในอดีตที่ผ่านมาการลดความเสี่ยงของลูกค้าในการตัดสินใจซื้อสินค้า ผู้ประกอบการมักจะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเช่น การจัดทำเอกสารที่น่าเชื่อถือ การตกแต่งบริษัทให้สวยงามเป็นมืออาชีพ และเตรียมรูปภาพที่ดีนำเสนอให้กับลูกค้า ปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการนำเสนอข้อมูลให้กับลูกค้าเพื่อลดช่องว่างในเรื่องนี้มากขึ้น
  2. สินค้ามีความแตกต่าง (Variability) การบริการการท่องเที่ยวมีความแตกต่างกันอย่างมาก ในที่นี้หมายถึงผู้ผลิตแต่ละคน ผู้บริโภคแต่ละคนมีประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งจะมีอิทธิพลที่ไม่สามารถคาดเดาได้ทั้งนี้เพราะเป็นปัจจัยเรื่องคนรวมถึงอารมณ์ ความคาดหวัง ระดับความพึงพอใจและทัศนคติของนักท่องเที่ยว
  3. สินค้าไม่สามารถแยกส่วนได้ (Inseparability) การบริการการท่องเที่ยวมีลักษณะที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ หมายถึงสินค้าและการบริโภคเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ผู้โดยสารที่โดยสารเครื่องบิน สายการบินเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นในขณะที่ผู้โดยสารเป็นผู้บริโภคสินค้านั้น
  4. สินค้าสูญเปล่า (Perish ability) หมายถึงสินค้าท่องเที่ยวเป็นสินค้าที่เกิดขึ้นตลอดเวลาถึงแม้ไม่มีผู้ซื้อสินค้า เช่น สายการบินสามารถจุผู้โดยสารได้ 400 ทีนั่งในการเดินทางในขณะนั้นหากมีที่นั่งว่าง 100 ที่นั่ง สายการบินก็ไม่ชดเชยในการบินครั้งต่อไปเป็น 500 ที่นั่งได้ดังนั้นการจัดการอุปสงค์และอุปทานอย่างเหมาะสมจึงทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
1.1.4 หลักการตลาดในธุรกิจท่องเที่ยว
         ศรัญยา วรากุลวิทย์ (2546 : 77) ได้กล่าวถึงการตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแตกต่างจากการตลาดสินค้าอุตสาหกรรมทั้งนี้เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีตัวตน ผู้บริโภคไม่ได้สัมผัสสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ เป็นผลิตภัณฑ์ที่แบ่งแยกไม่ได้ การผลิตและการบริโภคเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันและเป็นผลิตภัณฑ์ที่สูญเสียได้ ดังนั้นการตลาดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการพัฒนาการตลาดอย่างหนึ่งคือความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การสื่อสารต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงประชากรอย่างแพร่หลาย จะมีส่วนสนับสนุนให้ประชากรเกิดความสนใจในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นทำให้ประชากรมีความสามารถในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้น และนิคม จารุมณี (2536 : 201) ได้ให้ความหมายการตลาดการท่องเที่ยวว่า ประกอบด้วย 5 ประการคือ 1) การกำหนดความต้องการของสินค้า และบริการ 2) กำหนดขั้นตอนเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นๆ 3) กำหนดราคาตามอัตราการแข่งขันของตลาดและกำไรที่ต้องการจะได้ 4) คัดเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเพื่อการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไปสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย 5) การขายการท่องเที่ยว นอกจากนี้ กมล รัตนวิระกุล (2550 : 179, 264-265) ได้กล่าวถึงการตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปัจจุบันว่ามีการใช้การสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร IMC (Integrated Marketing Communication) เป็นเครื่องมือทีนิยมใช้กันมากเพื่อหวังผลให้สินค้า และข่าวสารการเสนอขายได้รับความสนใจ สร้างแรงจูงใจให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และมากที่สุด การสื่อสารการตลาดแบบครบวงจรหมายถึง การเลือกเครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสมกับสินค้า หรือบริการมากกว่า 1 ประเภท มาใช้ผสมผสานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ประกอบด้วย การส่งเสริมการขายโดยบุคคล การประชาสัมพันธ์ การตลาดตรง การตลาดเชิงกิจกรรม การโฆษณา การจัดแสดงสินค้า การอบรม การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การบอกเล่าปากต่อปาก การตลาดท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการส่งเสริมการท่องเที่ยวหลักของภาครัฐจำเป็นต้องศึกษาลักษณะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีอายุน้อยลง เป็นผู้เดินทางหนุ่มสาวมากขึ้น นักธุรกิจสตรีเป็นกลุ่มนักเดินทางรุ่นใหม่ที่มีความต้องการเฉพาะ นักท่องเที่ยวที่รักสุขภาพ เป็นต้น ช่องการการจัดจำหน่ายสมัยใหม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น การติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายอิเลคโทรนิค (e-mail) ระบบการตลาดอินเตอร์เน็ต (internet marketing) จะเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักเดินทางที่เปลี่ยนไป เครื่องมือสื่อสารและเอกสารโฆษณาและแผ่นพับจะเป็นระบบ Digital brochure สภาพเหมือนจริง (virtual) ส่งตรงถึงลูกค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งลูกค้าสามารถเปิดดูข้อมูลและรายละเอียดผ่านคอมพิวเตอร์ที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ที่ลูกค้าต้องการ
         อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้สื่อประเภทต่างๆ นั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการท่องเที่ยวในสภาพที่เป็นจริงของกลุ่มลูกค้า Oelkers, D. (2007 : 238) ได้เปรียบเทียบข้อได้เปรียบ และเสียเปรียบของการใช้สื่อต่างๆ ว่า สื่อส่วนใหญ่จะถูกแยกออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ (print) สื่อกระจายเสียง (broadcast) สื่ออิเลคโทรนิกส์ (electronic) และสื่อภายนอก (outdoor) และสื่อเหล่านี้อาจแปรเปลี่ยนเป็นสื่ออื่นเช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร โบรชัวร์ เป็นต้น แต่สื่อเหล่านี้จะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันดังนี้
ประเภทสื่อ ตัวอย่าง ข้อดี ข้อเสีย
สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ มีผู้อ่านจำนวนมาก ระยะเวลาสั้น
สื่อกระจายเสียง ทีวี ผู้ชมจำนวนมาก ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ราคาสูงซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก
อิเลคโทรนิกส์ อินเตอร์เน็ต ง่ายในการวัด ค่าใช้จ่ายน้อย จำกัดผู้เข้าชม
ภายนอก บิลบอร์ด ต้นทุนต่ำ Increasingly restricted
 
1.1.5 แนวโน้มธุรกิจการท่องเที่ยวในอนาคต
      ในปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวตามความต้องการของลูกค้า (e-tourist) และการดำเนินกลยุทธ์ของผู้ค้า ทำให้เกิด model ในการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และลดต้นทุน (eAirlines e-ticket e-hotels eHospitality e-business e-commerce e-marketing eDestinations) การตลาดใหม่ (e-marketing) ในลักษณะของ interactive มากขึ้น English tourism council (2002 : 8) กล่าวถึงการใช้งานอินเตอร์เน็ตว่าช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าและเป็นเครื่องมือสำหรับธุรกิจในการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ ลูกค้าได้รับข้อมูลจำนวนมากเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกในการจอง บริษัทท่องเที่ยวยังใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ ติดต่อและดำเนินงานกับลูกค้าและธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ การขยายตัวของการใช้อินเตอร์เน็ตทำให้องค์กรภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะกระบวนการกระจาย (distribution process) เช่น การทำการตลาดด้วยอีเมล์ การจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจนั้นสามารถอธิบายได้ 3 ส่วนคือ 1) การเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจ เป็นการปกป้องและกำหนดยุทธศาสตร์ที่ท้าทายมากขึ้น 2) ทบทวนกระบวนการสร้างมูลค่าใหม่บนพื้นฐานของข้อมูลและองค์ความรู้ 3) ปฏิวัติการใช้ทรัพยากร สมรรถนะและความสามารถที่มีอยู่เพื่อสร้างความได้เปรียบในระยะยาว (Elena Livi : 2008) ซึ่งสอดคล้องกับ Songyu N. (2006 : 108-113) และ Kim C. (2004 : 1-8) ได้กล่าวถึงการมีเว็บไซต์เป็นปัจจัยหนึ่งของการทำธุรกิจทะทำให้การท่องเที่ยวประสบผลสำเร็จ
         อย่างไรก็ตาม Gratzera M., Winiwarterb W.(2003) ได้วิเคราะห์อุปสรรค (threat) ในการนำเอา ICT ใช้ในธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันโดยใช้ The competitive forces model เพื่อใช้ในจัดการด้านการตลาด รวมถึงการจับคู่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย การให้ข้อมูลของสินค้าแก่ลูกค้า การตลาดให้กับผู้ขาย การจัดการสินค้า พบว่าใน ด้านที่หนึ่ง ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันหน้าใหม่ นั้นมีมากเนื่องจากผู้เข้ามาใหม่สามารถเปิดช่องทางได้มากขึ้น เพิ่มการลงทุนซึ่งมีราคาต่ำ และการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่สามารถหาได้ง่ายจากธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ด้านที่สอง การแข่งขันกันระหว่างคู่แข่งภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน อินเตอร์เน็ตสามารถนำบริษัทคู่แข่งเข้ามาในธุรกิจมากขึ้นโดยการขยายตลาดนำไปสู่การแข่งขันเรื่องลดราคา อินเตอร์เน็ตยังทำให้ผู้ซื้อได้ซื้อสินค้าและบริการได้ตรงกับความต้องการจากบริษัทที่มีอยู่ในตลาดการแข่งขัน ด้านที่สาม ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน อินเตอร์เน็ตช่วยให้ผู้ซื้อสามารถหาสินค้าทดแทนได้ง่ายจากบริษัทท่องเที่ยวในตลาดแข่งขัน ด้านที่สี่ อำนาจต่อรองของ Supplier จะเพิ่มขึ้น ด้านที่ห้า อำนาจต่อรองของลูกค้า จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน และลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาและข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับสินค้า ทำให้ราคากลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ และส่วนโอกาส (opportunity) ในการนำเอาอินเตอร์เน็ตมาใช้นั้นเพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการทำธุรกิจท่องเที่ยวอธิบายด้วยเหตุผลทางตรรก 3 อย่างคือ ตรรกทางเทคโนโลยี โดยดูที่ตัวเทคโนโลยี การทำงานของเทคโนโลยี และศักยภาพในการปรับใช้ของบริษัทท่องเที่ยว ตรรกทางตลาด คือการอธิบายสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับผลประโยชน์ ความต้องการที่ตรงกับพฤติกรรมของลูกค้า ตรรกทางธุรกิจ คือกระบวนการทางธุรกิจ และกติกาของบริษัทในการจัดการธุรกิจในเครือข่ายให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งทั้ง 3 นี้ต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จมีความได้เปรียบในการแข่งขันโดยมีตรรกทางเทคโนโลยีมาช่วยลดอุปสรรคทั้ง 5 ที่ได้กล่าวมาแล้ว ในขณะที่ Cisco อ้างใน Buhalis D. และ Deimezi O. (2004, 5) ได้แบ่งประเภทขององค์กรตามการประยุกต์ ICT เพื่อการค้าขายอิเลคทรอนิกส์ (e-commerce) ออกเป็น 7 ประเภทคือ
  1. ระดับที่ 1 เริ่มต้น องค์กรประเภทนี้มีข้อจำกัดในการนำเอา ICT มาใช้แต่มีความสนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติม
  2. ระดับที่ 2 มีระบบภายในและอินเตอร์เน็ต องค์กรประเภทนี้มีระบบภายในแบบพื้นฐานสำหรับการทำบัญชี การพิมพ์งานและสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้
  3. ระดับที่ 3 มีเว็บไซต์พื้นฐานและอีเมล์ องค์กรประเภทนี้มีเว็บไซต์พื้นฐานที่เสนอโบรชัวร์แบบออนไลน์ มีการติดต่อผ่านอีเมล์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
  4. ระดับที่ 4 มีเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ องค์กรประเภทนี้มีเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ วางเว็บไซต์ขององค์กรไว้ในการค้าในอินเตอร์เน็ตของโลก
  5. ระดับที่ 5 มีการสั่งสินค้าและชำระเงินแบบออนไลน์ มีการลดต้นทุนติดต่อทางธุรกิจและเพิ่มความเร็วในการทำงานด้วยการทำงานแบบออนไลน์
  6. ระดับที่ 6 มีการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดช่องว่างของโรงงานและการขนส่ง รวมถึงการลดความสูญเสียในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน
  7. ระดับที่ 7 มีระบบข้อมูลสำหรับผู้ผลิต ลูกค้า และหุ้นส่วนธุรกิจ มีรูปแบบธุรกิจใหม่ที่สามารถทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร และส่วนบุคคล
         Maurer C. (2010) ได้กล่าวถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2010 ว่าลูกค้าในทวีปยุโรปมีการใช้อินเตอร์เพิ่มมากขึ้นเพื่อสืบค้นหาข้อสรุปการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ทำให้ Travel metasearch websites หรือเว็บไซต์เพื่อการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญเพราะบริษัทท่องเที่ยวสามารถให้ข้อเสนอที่ดีเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าและลูกค้าสามารถเปรียบเทียบและเลือกตัดสินใจได้ ประเด็นสำคัญคือเนื้อหาในแต่ละช่องทางต้องเหมือนกันมีหลายช่องทางให้เลือก มีความเป็นส่วนตัว มีการรวบรวมข้อมูลหลายกหลายที่จำเป็นในสถานที่เดินทางไป เช่น สถานการณ์สังคม เป็นต้น ส่วนช่องทางก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น Facebook, MySpace, YouTube and Twitter เป็นต้น โดยเฉพาะช่องทางที่ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการให้บริการทำนาย หรือการจำลองสถานการณ์ด้วยข้อมูลแบบเสมือนจริงเพื่อช่วยให้ลูกค้าได้ตัดสินใจ นอกจากนี้การใช้เครื่องโมบายโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือจะเข้ามามีบทบาทในการเป็นเครื่องมือทางการท่องเที่ยว และจะมีการใช้ Video conferencing เพื่อถ่วงดุลหรือทางเลือกในการท่องเที่ยว การใช้เครื่องตรวจสแกนร่างกายที่สนามบินจะกลายเป็นอุปสรรคในการท่องเที่ยว ในปี 2010 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญจาก การใช้สื่อออนไลน์ เป็นการใช้รูปแบบการโฆษณา และ e-commerce , m-commerce and social commerce
         ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ได้ปรับรูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อนำเอาแนวคิด e-tourism มาใช้ กับการท่องเที่ยวเช่น ประเทศกรีก ประเทศเกาหลี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ เป็นต้น เช่นในประเทศอังกฤษมีหน่วยงานรับผิดชอบในด้านการท่องเที่ยวคือ the English tourism council (ETC) มีภารกิจในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศอังกฤษให้มีคุณภาพสูง ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ประชาสัมพันธ์และตอบสนองต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาพรวม ในการดำเนินงานดังกล่าวจะให้ความสำคัญของการใช้สื่อทางอิเลคทรอนิกส์ใหม่สำหรับการตลาด และช่องทางการกระจาย กุญแจหลักที่สำคัญเป็นอันดับแรกคือการนำเอา e-business มาใช้ในการท่องเที่ยวและการมุ่งแก้ปัญหาการทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในองค์รวม ข้อมูลการใช้งานอิเลคทรอนิกส์เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศอังกฤษในภาพรวมพบว่า ภาคธุรกิจมีการใช้อีเมล์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46 ในปีพ.ศ. 2544 เป็นร้อยละ 58 ในปีพ.ศ. 2545 มีการใช้เว็บไซต์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41 ในปีพ.ศ. 2544 เป็น ร้อยละ 56 ในปีพ.ศ. 2545 ภารกิจหลักในการให้การสนับสนุนการพัฒนา e-tourism ของประเทศอังกฤษได้ให้ความสำคัญในระดับท้องถิ่นด้วยการยกระดับทักษะผู้ให้บริการการท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กเรื่องการใช้งาน e-marketing และ e-commerce อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด\
         ไพศาล กาญจนวงศ์ (2553 : 51) ได้ศึกษารูปแบบการใช้อิเล็คทรอนิกส์เพื่อการท่องเที่ยวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า เมื่อนำตัวแปรการมีคอมพิวเตอร์จากจำนวนคอมพิวเตอร์พีซี และจำนวนคอมพิวเตอร์โน้ตบุกส์ที่ใช้ในสำนักงาน และตัวแปรการมีเว็บไซต์ของภาคธุรกิจ มาวิเคราะห์ประเภทธุรกิจโดยจัดให้อยู่ใน รูปของตาราง cross tab พบว่าประเภทธุรกิจท่องเที่ยวสามารถเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ 1 เรียกว่า กลุ่มศักยภาพสูง (high) เป็นกลุ่มที่มีคอมพิวเตอร์และมีเว็บไซต์ใช้ในการทำงานประจำวัน กลุ่มที่ 2 เรียกว่า กลุ่มศักยภาพปานกลาง (medium) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือกลุ่มที่มีคอมพิวเตอร์แต่ไม่มีเว็บไซต์และกลุ่มที่ไม่มีคอมพิวเตอร์แต่มีเว็บไซต์ และกลุ่มที่ 3 เรียกว่า กลุ่มศักยภาพต่ำ (low) เป็นกลุ่มที่ไม่มีทั้ง คอมพิวเตอร์และเว็บไซต์ใช้ในการทำงาน
กลุ่มศักยภาพสูง (high) เป็นกลุ่มที่มีคอมพิวเตอร์และมีเว็บไซต์ของหน่วยงาน พบว่ามีจำนวนมากที่สุดคือร้อยละ 54.2
กลุ่มศักยภาพปานกลาง (medium) เป็นกลุ่มที่มีคอมพิวเตอร์แต่ไม่มีเว็บไซต์ พบร้อยละ 41.1 หรือ เป็นกลุ่มที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ แต่มีเว็บไซต์ พบร้อยละ 0.5
กลุ่มศักยภาพต่ำ (low) เป็นกลุ่มที่ไม่มีทั้งคอมพิวเตอร์และไม่มีเว็บไซต์ พบร้อยละ 4.2 ดังแสดงในตาราง
การมีคอมพิวเตอร์ การมีเว็บไซต์ รวม
ไม่มี มี
ไม่มี
( 4.2%)
1
(.5% )

(100.0%)
มี 78 
( 41.1%)
103 
(54.2%)
181 (100.0%)
รวม 86 
(45.3%)
104 
(54.7%)
190 (100.0%)
จากตารางจะเห็นได้ว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย มีการนำเอาอิเลคทรอนิกส์มาใช้งานเพียงครึ่งหนึ่งของภาคธุรกิจเท่านั้น ดังนั้นรัฐลบาลจึงควรสนับสนุนให้นำเอา ICT มาใช้อย่างจริงจังให้มากขึ้น
1.2 หลักนิเทศศาสตร์
1.2.1 พัฒนาการของการศึกษานิเทศศาสตร์
           การจัดการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ในต่างประเทศเริ่มต้นจากการจัดการศึกษาด้านหนังสือพิมพ์และวารสารศาสตร์ก่อน ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การศึกษาในด้านนี้จึงได้ขยายตัวตามสื่อมวลชนประเภทวิทยุและโทรทัศน์มาเป็นการศึกษาด้านการสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ การศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ยุคใหม่ในสหรัฐอเมริกาเริ่มจากการก่อตั้งคณะวิชาการหนังสือพิมพ์ขึ้นในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในปี พ.ศ. 2446 ( ค.ศ. 1903) โดยเงินทุนจำนวน 2.5 ล้านเหรียญ จากการบริจาคของนายโจเซฟ พูลิตเซอร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้นักหนังสือพิมพ์ได้รับการอบรมและฝึกฝนให้เป็นนักวิชาชีพเช่นเดียวกับแพทย์และทนายความ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาก็ได้เปิดสอนหลักสูตรวิชาการหนังสือพิมพ์ขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยอิลินอย์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มหาวิทยาลัยมิสซูรี่ จากการสำรวจ พ.ศ. 2496 ( ค.ศ. 1953) พบว่า มีหลักสูตรทางด้านการหนังสือพิมพ์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสิ้น 672 หลักสูตร การขยายตัวของหลักสูตรด้านสื่อสารมวลชนในสหรัฐอเมริกาทวีขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษต่อมา มีการสอนในสาขาต่างๆ มากกว่า 20 สาขา ในคณะวิชา ภาควิชาหรือแผนกวิชาที่เรียกชื่อแตกต่างกันไป
   
           สำหรับในกลุ่มประเทศอาเซียนได้จัดให้มีการศึกษาด้านการหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2462 ( ค.ศ. 1919) มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์เปิดสอนหลักสูตรการหนังสือพิมพ์ขึ้นโดยมีชาวอเมริกันเป็นที่ปรึกษา แต่หลักสูตรนี้ก็ถูกยกเลิกไปภายในระยะเวลาอันสั้น หลักสูตรต่อมาเป็นหลักสูตรในคณะอักษรศาสตร์ ประเทศไทยก็มีการสอนวิชาการหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกในคณะอักษร จากการสำรวจเอกสารซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์การยูเนสโกและรายงานสัมมนาซึ่งจัดขึ้นโดย East-West Communication Institute พบว่า หลักสูตรทางด้านนิเทศศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลแนวความคิดและรูปแบบการจัดการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
หลักสูตรในแนวนี้ประกอบด้วยส่วนที่เป็นวิชาทั่วไป หรือที่เรียกว่า ความรู้ทางทฤษฎีและส่วนที่เป็นวิชาชีพนิเทศศาสตร์ สาระทางวิชาการของหลักสูตรมีรากฐานจากสาขาสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ มีเป้าหมายเพื่อผลิตนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนสำหรับปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐและในภาคธุรกิจเอกชน ไม่ปรากฏว่า มีหลักสูตรที่มุ่งให้ความรู้ หรือ ผลิตนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนดังแนวการจัดการศึกษาในเยอรมันหรือสหราช - อาณาจักร เว้นแต่ประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวที่บรรจุรายวิชาด้านสื่อสารมวลชนไว้ในหลักสูตรระดับปริญญาตรีทางมนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ โดยมุ่งหมายให้เป็นวิชาการส่วนหนึ่งของสาขามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ ผู้ที่สนใจจะประกอบอาชีพในสื่อมวลชนประเภทต่างๆ จะได้รับการอบรมจากหน่วยงานนั้นๆ เป็นการเฉพาะเมื่อเริ่มปฏิบัติงาน ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการจัดการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
 
1.2.2 พัฒนาการการศึกษานิเทศศาสตร์ในประเทศ
                     ธิติพัฒน์ เอี่ยมนิรันดร์ (อ้างในอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ 2530: บทคัดย่อ) ได้วิจัยเรื่อง การศึกษาด้านนิเทศศาสตร์(ระดับอุดมศึกษา) ในประเทศไทย พบว่า
  1. การก่อตั้งการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ขึ้นในประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตนักวิชาชีพไปพัฒนาประเทศ โดยระยะแรกจัดการศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์ในการผลิตนักวารสารศาสตร์และนักสื่อสารมวลชนเพื่อเข้ารับราชการ ในระยะต่อมา เมื่อระบบเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ได้มีวัตถุประสงค์ในการผลิตบุคลลากรสำหรับภาคธุรกิจเอกชนด้วย
  2. การก่อตั้งการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ในสมัยแรกมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสภาพทางการเมืองและการรับเทคโนโลยีทางด้านสื่อสารมวลชนเข้ามาในประเทศไทย ผู้นำทางการเมืองได้มีบทบาทและอิทธิพลในการก่อตั้งสถาบันสื่อสารมวลชนและการสอนด้านวิชาการหนังสือพิมพ์และวารสารศาสตร์ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สืบเนื่องมาจากการต่อสู้ทางการเมืองและความต้องการที่จะใช้สื่อมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง
  3. การขยายตัวของการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ในสมัยต่อมามีความใกล้ชิดกับ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางสื่อมวลชน วิทยาลัยกรุงเทพและมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้จัดหลักสูตรซึ่งเน้นด้านธุรกิจควบคู่กับวิชาด้านนิเทศศาสตร์ ส่วนสถาบันอื่นๆ ทีสอนสาขาวิชานิเทศศาสตร์ก็ได้เพิ่มแขนงวิชาการโฆษณาเข้ามาในหลักสูตร
  4. ขอบข่ายและสาระหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ซึ่งเป็นหลักสูตรแนววิชาชีพ เน้นความชำนาญเฉพาะด้านได้รับอิทธิพลจากการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากการที่องค์การระหว่างประเทศและมหาวิทยาลัยในสหรัฐได้ส่งผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์มาให้คำแนะนำในการจัดหลักสูตร และการส่งอาจารย์ไปศึกษาวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ในต่างประเทศในปี พ.ศ. 2526 ร้อยละ 51.24 ของอาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ทั้งหมดเป็นอาจารย์ที่จบจากสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 42.98 จบในประเทศ และร้อยละ 5.78 จบจากประเทศอื่นๆ
         สำหรับสาขาวิชาด้านนิเทศศาสตร์ที่เปิดสอนในประเทศไทย เช่น หนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งสิ่งพิมพ์ วารสารศาสตร์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ นิเทศศาสตร์ธุรกิจ การสื่อสารการตลาด วาทวิทยาและสื่อสารการแสดง ภาพนิ่งและภาพยนตร์ นิเทศศาสตร์พัฒนาการ ภาษาเพื่อการสื่อสาร สื่อสารมวลชน สื่อสารการแสดง การสื่อสารระหว่างบุคคล การบริหารการโฆษณา การวิจัยนิเทศศาสตร์ นโยบายและการวางแผน
         จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอน ทางด้านนิเทศศาสตร์เป็นแห่งแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2482 โดยเปิดสอนในระดับอนุปริญญา สังกัดในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์[ 1] หลังจากนั้น จึงมีการโอนการศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปทำการสอนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยใช้ชื่อคณะว่า คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และได้ปรับปรุงหลักสูตรจนสามารถเปิดสอนในระดับปริญญาตรีได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย[ 2] ภายหลังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงได้เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาทางด้านนิเทศศาสตร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจะใช้ชื่อคณะที่แตกต่างกัน อาทิเช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้ชื่อ คณะการสื่อสารมวลชน ขณะที่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยทักษิณ ใช้ชื่อ คณะนิเทศศาสตร์ เป็นต้น
         นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเกือบทุกแห่ง ก็เปิดสอนในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ด้วย สำหรับการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ( ปริญญาโทและเอก) มีเปิดสอนที่ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตลอดจนมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เป็นต้น
         ในปัจจุบัน มีการเปิดสอนวิชานิเทศศาสตร์ในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับอนุปริญญา จนถึงปริญญาเอก ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน เดิมเคยเป็นสาขาที่มีผู้นิยมเรียนสูงมาก แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจึงส่งผลต่อบัณฑิตที่สำเร็จจากสาขาวิชานิเทศศาสตร์ที่เริ่มมีจำนวนมาก ทำให้บัณฑิตนิเทศศาสตร์ได้ทำงานไม่ตรงตามสาขาได้ทุกคน สาขาวิชานิเทศศาสตร์จึงลดความนิยมลงไป แต่ก็ยังเป็นที่นิยมของนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก
1.2.3 ความหมายของนิเทศศาสตร์
          นิเทศศาสตร์ (อังกฤษ: Communication Arts) หมายถึง ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในการสื่อสาร โดยให้ความสำคัญกับการสื่อสาร จากองค์ประกอบของการสื่อสาร กล่าวคือ ผู้ส่งสาร สาร สื่อ และผู้รับสาร ซึ่งผู้ส่งสารอาจเป็นตัวบุคคล องค์กร หรือบริษัทก็ได้ ข่าวสารจะต้องเป็นเนื้อหาสาระที่ผู้ส่งต้องการที่จะกระจายให้ประชาชนได้รับทราบ สื่อหรือช่องทาง เป็นการหาวิธีการกระจายข่าวสารต่างๆ ไปสู่กลุ่มเป้าหมายให้ได้มาก และกว้างไกล ตามวัตถุประสงค์ของผู้ส่ง และผู้รับสาร หรือกลุ่มป้าหมาย จะต้องสามารถรับข่าวสารนั้นได้ โดยผู้ส่งสารจะต้องหาวิธีการทำให้ข่าวสารที่ส่งไป ถึงผู้รับสารได้มากที่สุด
          พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประทานความหมายของ 'นิเทศศาสตร์' ไว้ว่า ' เป็นวิชาสื่อสารไปยังมวลชนโดยทางใดก็ตาม ไม่จำเพาะทางหนังสือพิมพ์ เช่น การสื่อสารทางการละครก็เข้าไปอยู่ในนิเทศศาสตร์ การสื่อสารมวลชนทางอื่นนอกจากทางหนังสือพิมพ์ เช่น ทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ ก็เข้าอยู่ในนิเทศศาสตร์'
          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พุทธศักราช 2542 ( มานิต มานิตเจริญ . 2547: 442) กำหนดความหมายของ “ นิเทศศาสตร์ ” ไว้ว่า คือวิชาว่าด้วยการสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์
1.2.4 วัตถุประสงค์การศึกษานิเทศศาสตร์ศึกษา
                    การศึกษานิเทศศาสตร์ศึกษามีแนวทางการศึกษาโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
  1. เพื่อบรรยาย หมายถึง การตอบคำถามว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร เช่น การบรรยายการเกิดดำเนินการของวิทยุชุมชนในปัจจุบันว่า เป็นไปตามแนวความคิดของการจัดตั้งวิทยุชุมชนที่แท้จริงหรือไม่ โดยการศึกษาจะต้องระบุว่า ใครคือผู้ดำเนินการผลิตวิทยุชุมชน ดำเนินการเองทั้งหมดหรือมีการแบ่งเวลาให้ดำเนินการ หรือ มีการให้เช่าเวลาดำเนินรายการ ใครคือผู้เช่าเวลา ใครคือเจ้าของ ชุมชนมีส่วนร่วมหรือไม่อย่างไร การดำเนินการวิทยุชุมชนทำที่ไหน มีช่วงเวลาการออกอากาศอย่างไร เมื่อไร
  2. เพื่ออธิบาย หมายถึง การตอบคำถามประเภท “ ทำไม ” คำตอบที่ได้จากคำถามประเภท “ อธิบาย ” เป็นสาระสำคัญของศาสตร์ทั้งปวง เช่น พฤติกรรมการสื่อสารของผู้บริหารองค์การจะมีผลต่อการสร้างความน่าเชื่อถือในการบริหารประเทศหรือไม่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงมีพฤติกรรมการสื่อสารแบบนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อความนิยมรายการเรียลริตี้โชว์
  3. เพื่อทำนาย หมายถึง การตอบคำถามประเภท “ อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ” เช่น การใส่ภาพที่น่ากลัว หรือ น่ารังเกียจอันเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่บนซองบุหรี่จะมีผลต่อการลดการลด ละ หรือเลิกสูบบุหรี่ในอนาคตหรือไม่ การศึกษารูปแบบการบริหารงานโทรทัศน์ไทยในทศวรรษหน้า
           การศึกษานิเทศศาสตร์ศึกษาเป็นการนำความรู้ แนวคิด หลักการ ทฤษฎี การวิจัยด้านนิเทศศาสตร์และที่เกี่ยวข้องมาศึกษา บูรณาการ ประยุกต์ใช้ หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านนิเทศศาสตร์ หรือการสื่อสารตามความสนใจด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบรรยาย การอธิบายและการทำนาย การศึกษานิเทศศาสตร์ศึกษามีความสำคัญเพื่อการพัฒนาวิชาชีพ วิชาการ การประยุกต์ใช้ และการบูรณาการความรู้ด้านนิเทศศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ
1.2.5 ขอบเขตของการศึกษานิเทศศาสตร์
                ขอบข่ายความสนใจด้านนิเทศศาสตร์ได้ด้วยตนเองมี 5 วิธีดังนี้
  1. การศึกษาโดยทฤษฎีการสื่อสารและที่เกี่ยวข้อง การศึกษาโดยทฤษฎีการสื่อสารและที่เกี่ยวข้องเป็นการศึกษาโดยใช้เนื้อหาสาระของทฤษฎีการสื่อสารเป็นแนวทางในการศึกษา นักศึกษาอาจจะเลือกใช้ 1 ทฤษฎี หรือ มากกว่า 1 ทฤษฎีเป็นแนวทางในการศึกษาการสื่อสาร หรือด้านนิเทศศาสตร์
  2. การศึกษากระบวนการของการสื่อสาร เป็นการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์หรือการสื่อสารซึ่งสามารถศึกษาแต่ละองค์ประกอบของการสื่อสาร หรือทั้งกระบวนการสื่อสาร
  3. การศึกษางานในวิชาชีพนิเทศศาสตร์ เป็นการศึกษาจากงานด้านนิเทศศาสตร์หรือการสื่อสารเป็นแนวทางทางการศึกษา เช่น งานโฆษณา งานประชาสัมพันธ์ งานวิทยุกระจายเสียง งานวิทยุโทรทัศน์ งานหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ งานภาพยนตร์ งานศิลปะการแสดง งานวาทะวิทยา งานการผลิตสื่อต่างๆ และงานที่เกี่ยวข้อง ธรรมชาติการทำงานด้านนิเทศศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับการทำงานในเรื่องการผลิตสื่อในแต่ละประเภท และในงานผลิตสื่อจะมีผู้ปฏิบัติงานในแต่ขั้นตอนของการผลิตสื่ออยู่ด้วย การศึกษางานในวิชาชีพนิเทศศาสตร์จึงศึกษาโดยแบ่งตามกระบวนการผลิตสื่อออกเป็นขั้นก่อนการผลิตสื่อ ขั้นการผลิตสื่อ ขั้นหลังการผลิตสื่อ
  4. การศึกษาการประยุกต์ใช้การสื่อสาร เป็นการแนวทางการศึกษางานของวิชาชีพอื่นๆ ที่การสื่อสาร หรือนิเทศศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ร่วมกับงานหรือศาสตร์อื่นๆ เพียงงานเดียวหรือศาสตร์เดียว แนวคิดสำคัญของการประยุกต์ใช้การสื่อสาร หรือนิเทศศาสตร์ คือ การสื่อสารเป็นเครื่องมือของสื่อความหมาย สายใยที่เชื่อมโยงศาสตร์นิเทศศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ เพื่อที่จะให้ข้อมูลข่าวสาร ให้การศึกษา โน้มน้าวใจ และเพื่อให้ความบันเทิง
  5. การศึกษาการบูรณาการจากหลายศาสตร์ การศึกษาการบูรณาการจากศาสตร์หลายศาสตร์เป็นการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ หรือการสื่อสารเป็นหลักและนำความรู้ศาสตร์อื่นมากกว่า 2 ศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการศึกษานิเทศศาสตร์มาร่วมกันศึกษา อธิบาย วิเคราะห์ วิพากษ์ ร่วมกับประเด็นการศึกษาทางนิเทศศาสตร์
 1.3 แนวคิดsหลักนิเทศศาสตร์กับการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่ขึ้นอย่างเป็นกระบวนการกับสหวิทยาการอื่นๆ จนพัฒนาเกิดเป็นสาขาที่สำคัญสาขาหนึ่งในระบบเศรษฐกิจที่มีผู้ซื้อและผู้ขายในระบบ ขยายตัวเป็น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Industry) ที่ก่อให้เกิดรายได้ที่สำคัญของประเทศ แต่เนื่องคุณลักษณะสินค้าและบริการของการท่องเทียวมีลักษณะเป็น สินค้าที่จับต้องไม่ได้ (Intangibility) สินค้ามีความหลากหลาย (Variability) สินค้าไม่สามารถแยกส่วนได้ (Inseparability) และ สินค้าสูญเปล่า (Perish ability) ทำให้ต่างไปจากภาคอุตสาหกรรมทั่วไป ดังนั้น การนำเอาหลักนิเทศศาสตร์มาใช้ในการท่องเที่ยว โดยคัดเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเพื่อการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไปสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย การขายการท่องเที่ยว การสนับสนุนให้ประชากรเกิดความสนใจในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น และในปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การใช้ช่องการการจัดจำหน่ายสมัยใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น การติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายอิเลคทรอนิกส์ (e-mail) ระบบการตลาดอินเตอร์เน็ต (internet marketing) จะเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักเดินทางที่เปลี่ยนไป เครื่องมือสื่อสารและเอกสารโฆษณาและแผ่นพับจะเป็นระบบ Digital brochure สภาพเหมือนจริง (virtual) ส่งตรงถึงลูกค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งลูกค้าสามารถเปิดดูข้อมูลและรายละเอียดผ่านคอมพิวเตอร์ที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ที่ลูกค้าต้องการ การท่องเที่ยวตามความต้องการของลูกค้า (e-tourist) และการดำเนินกลยุทธ์ของผู้ค้า ทำให้เกิด model ในการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และลดต้นทุน (eAirlines e-ticket e-hotels eHospitality e-business e-commerce e-marketing eDestinations) การตลาดใหม่ (e-marketing) ในลักษณะของ interactive มากขึ้น นอกจากนี้การตลาดมีการใช้การสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร IMC (Integrated Marketing Communication) การเลือกเครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสมกับสินค้า หรือบริการมากกว่า 1 ประเภท มาใช้ผสมผสานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น การส่งเสริมการขายโดยบุคคล การประชาสัมพันธ์ การตลาดตรง การตลาดเชิงกิจกรรม การโฆษณา การจัดแสดงสินค้า การอบรม การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

อ้างอิง
 
http://coursewares.mju.ac.th:81/TD335/td335/chapter1/chapter1_1.htm